ประวัติความเป็นมา

           อำเภอท่าสองยาง เดิมเป็นหมู่บ้านชื่อว่า "ต่าซ่องยาง" (ต่า แปลว่า ท่าน้ำ , ซ่อง แปลว่า ช่อง , ยาง แปลว่า ชาวกะเหรี่ยง) ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวพื้นเมืองเผ่ากะเหรี่ยง ในสมัยก่อนนั้นมีแต่ชาวพื้นเมืองเผ่ากะเหรี่ยง ข้ามแม่น้ำเมยไปมาหาสู่หรือค้าขายกัน แต่เมื่อมีคนไทยจากอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เดินทางเข้ามาค้าขายของป่ากับชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ จึงมีคนไทยเหนือ ไทยใหญ่ เข้ามาอาศัยอยู่มากขึ้น

           อำเภอท่าสองยาง เดิมมีฐานะเป็นกิ่งอำเภอที่ขึ้นอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2491 ได้ตัดโอนมาขึ้นกับอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และเมื่อปี พ.ศ. 2494 เมื่อ กิ่งอำเภอแม่ระมาด ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอแม่ระมาด กิ่งอำเภอท่าสองยาง จึงได้โอนไปขึ้นอยู่กับอำเภอ แม่ระมาด แล้วต่อจึงได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอท่าสองยาง เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2501 จนถึงปัจจุบันนี้

           เมื่อครั้งยังเป็นกิ่งอำเภออยู่ในเขตการปกครองของอำเภอแม่สะเรียงนั้น ที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่ที่หมู่บ้านท่าสองยาง หมู่ที่ 1 ตำบลท่าสองยาง ต่อมาเมื่อได้ตัดโอนมาอยู่ในเขตการปกครองของจังหวัดตาก จึงได้ย้ายที่ว่าการกิ่งอำเภอท่าสองยาง มาตั้งอยู่ที่หมู่บ้านบ้านแม่ต้าน หมู่ที่ 1 ตำบลแม่ต้าน ซึ่งเป็นที่ตั้งที่ว่าการอำเภอท่าสองยางในปัจจุบัน ส่วนสาเหตุที่ย้ายก็เนื่องมาจาก หมู่บ้านแม่ต้านเป็นหมู่บ้านที่มีจำนวนราษฎรอยู่หนาแน่นสะดวกในการเดินทางติดต่อไปมาของราษฎรในพื้นที่

           อำเภอท่าสองยาง เป็นอำเภอชายแดนอยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัดตาก มีพื้นที่ ๑,๙๒๐.๓๘ ตารางกิโลเมตร ความหนาแน่นของประชากร เท่ากับ ๓๔.๖๑ คน / ตารางกิโลเมตร มีระยะทางห่างจากตัวจังหวัดตาก ๑๖๐ กิโลเมตร โดยมีอาณาเขตติดต่อดังนี้


ภาพที่ ๑ แผนที่แสดงที่ตั้งและอาณาเขตอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก

ข้อมูลอาณาเขตติดต่อ

          ๑. ทิศเหนือติดต่อกับ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
          ๒. ทิศตะวันออกติดกับ อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่
          ๓. ทิศใต้ติดต่อกับ อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก
          ๔. ทิศตะวันตกติดต่อกับประเทศสหภาพเมียนมาร์ โดยมีแม่น้ำเมย ซึ่งเป็นพรมแดนธรรมชาติกั้นระหว่างประเทศไทย และ สหภาพเมียนมาร์ ซึ่งมีระยะทางยาว ๑๕๐ กิโลเมตร จากเหนือจรดใต้

ข้อมูลภูมิประเทศ

           สภาพภูมิประเทศ ร้อยละ ๙๐ เป็นภูเขาและเทือกเขาสูง และพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่าสงวนมีเทือกเขาถนนธงชัยทอดผ่านจากเหนือลงใต้ และมีที่ราบริมแม่น้ำเพียงเล็กน้อย สภาพ ภูมิอากาศเป็นแบบมรสุมเมืองร้อน โดยในฤดูฝนจะได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มาปะทะกับด้านรับลมของเทือกเขาถนนธงชัย ทำให้มีฝนตกชุกมาก โดยในฤดูฝนจะเริ่มจากเดือน พฤษภาคม ถึง ตุลาคม และในฤดูหนาวมีอากาศหนาวจัด โดยเฉพาะในพื้นที่ภูเขาสูง อาจมีอุณหภูมิต่ำกว่า ๘ องศาเซลเซียส ซึ่งจากสภาพภูมิประเทศ และภูมิอากาศดังกล่าว ทำให้การคมนาคมภายในอำเภอท่าสองยาง ค่อนข้างยากลำบากโดยมีถนนสายหลัก อยู่เพียง ๒ เส้นทาง นอกนั้นเป็นถนนลำลอง และถนนลูกรัง โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน พื้นที่ส่วนใหญ่ร้อยละ 70 รถยนต์ไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ได้ ต้องใช้จักรยานยนต์ หรือการเดินเท้าเพียงอย่างเดียว